วัยทอง

วัยทอง คือ ภาวะที่สตรีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน รังไข่หยุดการผลิตไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือนอีกต่อไป ผู้ที่เข้าสู่วัยทองจะมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 45-55 ปี  ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยที่อาการอาจหายไปเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา หรืออาจคงอยู่ไปตลอดจนสิ้นอายุขัย

อาการของวัยทอง

ก่อนผู้หญิงจะเข้าสู่วัยทอง ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมือนเป็นสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้า คือ ประจำเดือนเริ่มมาคลาดเคลื่อน หรือมากะปริบกะปรอย และประจำเดือนขาด 

ไปกว่า 1 ปี แต่กลับมาเป็นอีกครั้ง ก่อนจะหมดประจำเดือนอย่างถาวร

หลังจากที่ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนแล้ว จะเริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ดังนี้

 1 ประจำเดือนขาด ช่องคลอดแห้ง

 2 ร้อนวูบวาบ ไม่สบายตัว มีเหงื่อออกตอนกลางคืน

 3  มีปัญหาเรื่องการนอน นอนน้อย นอนไม่หลับ
 
 4  ผิวแห้ง หนังศีรษะบาง ผมร่วง
 
 5  อ้วนขึ้น ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานได้น้อยลง
 
 6  ไม่มีสมาธิ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
 

สาเหตุของวัยทอง

ภาวะวัยทองหรือภาวะหมดประจำเดือนเกิดจากร่างกายของผู้หญิงไม่มีการตกไข่ เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ไม่ผลิตฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนอีกต่อไป ซึ่งภาวะนี้เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้นจนเข้าสู่วัยชรา สภาพร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ระบบต่าง ๆ ภายในก็ทำงานเสื่อมประสิทธิภาพลง

นอกจากนี้ อาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของรังไข่ก็อาจส่งผลต่อการขาดประจำเดือน การผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกไปก็ทำให้เข้าสู่ภาวะวัยทองได้ รวมทั้งการทำเคมีบำบัด

(Chemotherapy) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะนอกจากการรักษาจะส่งผลต่อเซลล์มะเร็งแล้ว ยังส่งผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายที่มีการเจริญเติบโตด้วย ในบางครั้งภาวะวัยทองจึงเป็นผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยไม่ได้เข้าสู่วัยทองตามช่วงวัยที่ควรจะเป็น หรือเข้าสู่วัยทองก่อนอายุประมาณ 40 ปี จะเรียกภาวะนี้ว่า วัยทองก่อนกำหนด หรือภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด

การวินิจฉัยวัยทอง

การวินิจฉัยด้วยตนเอง บันทึกช่วงวันที่มีประจำเดือน เพื่อให้ทราบช่วงวันสุดท้ายที่ประจำเดือน 

ขาด สังเกตจากการไม่มีประจำเดือนเป็นระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป ทั้งที่ไม่ได้มีการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดใด ๆ โดยสังเกตอาการผิดปกติของตนเองด้วย เช่น ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ หรือมีอาการอื่น ๆ ของวัยทองร่วมด้วย  หากไม่ได้มีอายุอยู่ในช่วงวัยที่เข้าสู่วัยทอง แต่ประจำเดือนขาดติดต่อกันเป็นเวลานาน ให้สังเกตและบันทึกอาการ แล้วปรึกษาแพทย์

การวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะสอบถามอาการและวันที่ประจำเดือนมาล่าสุด ช่วงระยะเวลาที่ประจำเดือนขาดหายไป การเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนเป็นเรื่องปกติของสตรีที่มาถึงวัยนี้

แต่หากสงสัยว่าเป็นภาวะหมดประจำเดือนก่อนกำหนด หรือต้องการตรวจเพื่อความมั่นใจ แพทย์จะใช้ชุดตรวจเลือดเพื่อตรวจหาระดับ Follicle-Stimulating Hormone (FSH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่สร้างไข่และกระตุ้นให้ไข่สุก มีผลต่อการมีประจำเดือน ส่วน Thyroid-Stimulating Hormone (TSH) ฮอร์โมนที่กระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์ ใช้ตรวจเฉพาะในรายที่สงสัยว่าน่าจะมีระดับไทรอยด์ต่ำ เพราะจะส่งผลต่อความผิดปกติของรอบเดือนด้วย

การรักษาวัยทอง

อาการของวัยทองเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพร่างกายของผู้หญิงตามวัย หากสามารถควบคุมและอยู่ร่วมกับอาการเหล่านั้นได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากอาการเหล่านั้นสร้างปัญหาต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจจนเกินควบคุม หรือสงสัยว่าเข้าสู่วัยทองก่อนวัยอันควร สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

โดยการดูแลตนเองหรือการรักษาอาการวัยทอง มีดังนี้

การดูแลตนเอง 

ผู้ที่อยู่ในภาวะหมดประจำเดือน ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลาย ๆ ด้าน เช่น

*  หากมีอาการร้อนวูบวาบ ให้สวมใส่เสื้อผ้าโปร่งสบาย อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เผ็ดร้อนหรือมีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา 

 *  หากอารมณ์แปรปรวน 

  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียดและความวิตกกังวลในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมเพื่อความผ่อนคลายทำ
  • เมื่อมีภาวะอ้วน ระบบเผาผลาญไม่ดี กระดูกไม่แข็งแรง ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy - HRT) เป็นการให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อลดและบรรเทาอาการจากการหมดประจำเดือน เช่น อาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกในตอนกลางคืน ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น โดยจะให้เป็นรูปแบบยาเม็ด เจลทาบนผิวหนัง แผ่นติดบนผิวหนัง หรือแบบฝังหลอดยาไว้ใต้ผิวหนัง

การให้ฮอร์โมนทดแทนมี 2 แบบหลัก คือ

การให้ฮอร์โมนเฮสโตรเจนร่วมกับโปรเจสโตเจน - ใช้สำหรับผู้ที่ยังมีมดลูกอยู่ตามปกติ

การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว - ใช้กับผู้ที่เคยผ่าตัดเอามดลูกออกไปแล้ว

ขณะนี้ การรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนกำลังเป็นที่ถกเถียงกันถึงผลดีและผลเสีย เพราะวิธีการนี้อาจมีผลกระทบข้างเคียงต่อผู้ป่วยบางราย เช่น เกิดอาการปวดหัว มีเลือดออกจากช่องคลอด เพิ่มความเสี่ยงของการแข็งตัวของเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม

การรักษาด้วยยา แพทย์จะให้ยากลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressant) ผู้หญิงวัยทองมักมีอารมณ์แปรปรวน ยาต้านเศร้าจะใช้ในรายที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะซึมเศร้า ส่วนอาการในภาวะหมดประจำเดือน คือ ช่องคลอดแห้ง เจ็บหรือคันบริเวณช่องคลอด สามารถบรรเทาได้ด้วยการใช้ครีม สารเพิ่มความชุ่มชื่นหรือเจลหล่อลื่นในช่องคลอดโดยตรง

การแพทย์ทางเลือก อย่างการฝังเข็ม หรือการรักษาด้วยสมุนไพร

กิจกรรมบำบัด การทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยลดความตึงเครียดและเพิ่มความผ่อนคลายให้ผู้หญิงในวัยทอง อย่างการนั่งสมาธิ และบางกิจกรรมก็ส่งเสริมสุขภาพร่างกายได้ด้วยตนเอง 

ส่วนกิจกรรมบำบัดที่เน้นกระบวนการคิดและการพัฒนาจิตใจ คือ การบำบัดปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เป็นการทำจิตบำบัดระยะสั้น ผู้ป่วยต้องเข้าพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อพูดคุยและหาทางออกของปัญหาที่กำลังเผชิญผ่านกระบวนการคิดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากและควบคุมจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง มีทั้งการทำจิตบำบัดแบบกลุ่มและรายบุคคล มีประสิทธิผลทางการรักษาต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตหรือความผิดปกติทางอารมณ์ โดยกระบวนการบำบัดเป็นไปใต้การดูแลของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา

ภาวะแทรกซ้อนของวัยทอง

ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหรืออาการบางอย่างขึ้น เพราะเอสโตรเจนเป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้

โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และภาวะอ้วน เนื่องจากระบบการเผาผลาญร่างกายที่เสื่อมถอย อาจทำให้มีไขมันอุดตันตามส่วนต่าง ๆ หรืออุดตันในเส้นเลือด

โรคกระดูกพรุน ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีส่วนช่วยในการสร้างเนื้อกระดูก ระดับฮอร์โมนที่ลดลงจึงมีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูก ผู้ที่อยู่ในวัยทองจึงมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน

เพราะกระดูกจะเปราะและแตกหักได้ง่าย

ปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะเสียความยืดหยุ่นและเสื่อมสภาพ ทำให้มีอาการปัสสาวะเล็ดบ่อย ๆ หรือมีปัสสาวะพร้อมกับการไอหรือจาม เสี่ยงต่อการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

ปัญหาทางเพศ ช่องคลอดแห้ง ความยืดหยุ่นของช่องคลอดลดลง อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ ความเจ็บปวด หรือมีเลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ

การป้องกันวัยทอง

ภาวะหมดประจำเดือนเป็นธรรมชาติของร่างกายผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง แนวทางการป้องกันจึงเป็นการป้องกันการหมดประจำเดือนก่อนถึงวัยอันควร และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย ทำได้โดย

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมกับวิตามินดีสูง เพื่อบำรุงกระดูกและส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สึกหรอ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลเป็นปริมาณมาก รวมทั้งเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา และให้ผิวหนังได้สัมผัสแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าเพื่อให้ร่างกายได้สังเคราะห์วิตามินดี

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ตามเกณฑ์ และเร่งการเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกาย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบได้อีกด้วย การออกกำลังกายง่าย ๆ ที่แพทย์แนะนำในวัยนี้ คือ การเต้นแอโรบิก โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้ร่างกายอ่อนล้าและต้องการการพักผ่อนมากกว่าปกติ แต่บางครั้งอาจมีอาการร้อนวูบวาบทำให้นอนหลับไม่สนิทหรือไม่สบายตัว ควรนอนหลับในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ อากาศเย็นสบาย และเตรียมน้ำไว้ใกล้ตัวเพื่อดื่มเมื่อมีอาการร้อนวูบวาบกลางดึก ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงความเครียดและความวิตกกังวล อันจะส่งผลให้มีปัญหาการนอนและความแปรปรวนของอารมณ์ตามมาด้วย

ควบคุมจัดการอาการที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจกับภาวะหมดประจำเดือน เตรียมความพร้อมเมื่อเข้าสู่วัยทอง ตรวจสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ ตรวจวัดความดันโลหิตเพื่อวางแผนรับมือกับอาการที่จะเกิดขึ้น หากอาการที่เกิดขึ้นเกินกว่าความสามารถในการจัดการ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 179,386